ตอนที่ 4 ปากีสถาน-สหรัฐ : ขัดแย้งขั้นแตกหักหลังสังหารบินลาเดน จริงหรือเท็จ? ตอน 1

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

           หลายวันที่ผ่านมาทุกท่านคงจะได้ทราบข่าวกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐอเมริกาที่ถึงขั้นที่แต่ละฝ่ายใช้มาตรการด้านการทูต และการทหาร กดดันอีกฝ่ายหนึ่งจนนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แตกร้าวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากสหรัฐใช้ทหารหน่วยรบพิเศษ (หน่วยซีล) เข้าสังหารนายอุซามะห์ บินลาเดน ในปากีสถานซึ่งถือเป็นปฏิบัติการฝ่ายเดียวที่ปากีสถานถือว่า ไม่ให้เกียรติอย่างแรงและทำให้ปากีสถานต้องขายหน้าต่อชาวโลกว่า “ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการอาศัยอยู่ในปากีสถานของบินลาเดน”

ต้นตอและลำดับเหตุการณ์
       ไม่ว่าบินลาเดนจะถูกสังหารจริงหรือไม่? หรือปฏิบัติการสังหารบินลาเดนของสหรัฐจะเป็นการจัดฉากหรือเปล่าก็ตาม ?แต่ผลพวงของเหตุการณ์ได้กลายมาเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างปากีสถานกับสหรัฐในที่สุด โดยในเริ่มแรกสหรัฐได้ติเตียนรัฐบาลปากีสถานว่า รัฐบาลปากีสถานอาจจะมีส่วนรู้เห็นกับการอาศัยอยู่ในปากีสถานของบินลาเดน แต่กลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ซึ่งถือว่าขัดต่อข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับปากีสถานที่ต้องการกวาดล้างกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน. 
       จากการกล่าวหาของสหรัฐทำให้ปากีสถานไม่พอใจสหรัฐเพิ่มมากขึ้นเพราะถือว่าเป็นการกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว แถมการปฏิบัติการลับก่อนหน้านี้ของสหรัฐก็ไม่แจ้งให้ปากีสถานทราบอีก รัฐบาลปากีสถานจึงใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐกลับไปเช่นกัน เช่น การไม่อนุมัติวีซ่าครูฝึกทหารสอนชาวอเมริกัน การลดการพึงพากองทัพสหรัฐในการปรามปรามกลุ่มตอลิบันบริเวณชายแดนปากีสถานกับอัฟกานิสถาน เป็นต้น และหลังจากนั้นสถานการณ์การตอบโต้ทางการทูต และการทหารก็รุนแรงขึ้นและมีมากขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม 2554 ) เมื่อ นางฮีลารี่ คลินตัน รมต.กลาโหมสหรัฐประกาศระงับให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อปากีสถานมูลค่าถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 24,000 ล้านบาท) ซึ่งแน่นอนว่าการตอบโต้อย่างรุนแรงของทั้งสองประเทศแบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศสั่นคลอน และเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต จนมีการวิเคราะห์กันไปต่างๆนาๆว่าปากีสถานอาจจะตัดสินใจลดบทบาทการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐในเอเชียใต้ก็เป็นได้.


การสังหารบินลาเดนของสหรัฐในปากีสถานถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท่าทีของปากีสถานต่อสหรัฐเปลี่ยนแปลงไปมาก และอาจจะทำให้ความมั่นคงของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียใต้ลดลง หากปากีสถานตีตัวออกห่าง

ปากีสถานจะลดความสัมพันธ์กับสหรัฐจริงหรือ?
          แต่คำถามมีอยู่ว่า “ปากีสถานจะลดความสัมพันธ์ทางการทหารและการทูตกับสหรัฐจริงไม่” หรือเป็นเพียงแค่เกมส์ที่ปากีสถานลงทุนเล่นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้โลกมุสลิมโจมตีปากีสถานว่ายอมเป็นลูกน้องและร่วมมือกับสหรัฐในการกำจัดบินลาเดน? นี่ต่างหากที่เราต้องการทราบและต้องมาวิเคราะห์กัน โดยส่วนตัวผมแล้วผมวิเคราะห์ไว้สองกรณีครับ คือ

1.ลดความสัมพันธ์กับสหรัฐจริงๆ
            ข้อสันนิฐานนี้ถึงแม้อาจดูเหมือนจะเป็นไปได้ แต่ลึกๆแล้วอาจจะเป็นไปได้ยากเหมือนกันเพราะมีปัจจัยหลายอย่างทางภูมิรัฐศาสตร์และผลประโยชน์ทางการทหารที่ปากีสถานและสหรัฐต้องพิจารณา แต่ถ้าหากเกิดการตัดความสัมพันธ์กันจริงๆแล้ว ก็จะเกิดผลลัพธ์ตามมาดังนี้ครับ
1.1      ปากีสถานหันไปเจริญความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย
แน่นอนว่าหากตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐ ปากีสถานต้องเดินหน้าหามหาอำนาจรายใหม่มาคอยสนับสนุนและคอยช่วยเหลือปากีสถานหากมีปัญหากับอินเดียในอนาคต ซึ่งมหาอำนาจในภูมิภาคที่ปากีสถานอาจจะเดินหน้าเข้าไปเจริญความสัมพันธ์ด้วยก็มี จีน และรัสเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกวีโต้ของสหประชาชาติ และมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารโลกที่สหรัฐเองก็อาจจะเกรงใจ โดยเฉพาะจีนที่มีอาณาเขตติดกัน แถมหลังๆมานี้จีนกำลังกลายมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าด้าน อาวุธ ยุทธโทปกรณ์รายใหญ่ให้ปากีสถานแทนที่สหรัฐแล้ว ถึงแม้ว่าอาวุธของจีนจะด้อยคุณภาพกว่าก็ตาม หากมีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง 3 ประเทศนี้ขึ้นจริงในอนาคต...เสถียรภาพทางการทหาร บารมี ความมั่นคง และผลประโยชน์ของสหรัฐในเอเชียใต้คงต้องอัปปางลงอย่างแน่นอน.

จีนและรัสเซียจะกลายมาเป็นสองมหาอำนาจใหม่ในเอเชียใต้ หากปากีสถานตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐและหันไปสนิทกับจีนและรัสเซียแทน

1.2          ทำให้สหรัฐเสียดุลอำนาจในภูมิภาค
สหรัฐถือเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิผลในภูมิภาคเอเชียใต้สูงพอสมควร โดยเฉพาะการเข้ามาสนับสนุนปากีสถานคานอำนาจกับอินเดีย และให้การสนับสนุนเงินทุนจำนวนมหาศาลต่อปากีสถานในด้านเศรษฐกิจและการทหาร โดยได้รับผลตอบแทนจากปากีสถานด้วยการยอมให้สหรัฐเข้ามาใช้ปากีสถานเป็นฐานทัพ และแหล่งเสบียง รวมถึงใช้ปากีสถานเป็นเครื่องมือในการต่อสู่กับสงครามก่อการร้ายที่เขาอ้างในอัฟกานิสถาน หากปากีสถานตัดความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐจริง สหรัฐก็จะเสียพันธมิตรตัวหลักในเอเชียใต้ และเสียอำนาจ บารมี ที่ตนเองอุตสาห์อุปโลกน์ ขึ้นมาในภูมิภาคนี้ โดยจะมี อินเดีย รัสเซีย และจีน ขยายอำนาจมาครอบงำความเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้แทน
1.3         ทำให้สหรัฐขาดประสิทธิภาพในการกวาดล้างตอลิบัน
ที่ผ่านมาการทำสงครามของสหรัฐในอัฟกานิสถานได้รับการช่วยเหลือจากปากีสถานเป็นอย่างมาก เพราะอเมริกาไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่คุ้นเคยกับการทำสงครามในสภาพภูมิประเทศแบบนี้  และหากมีการตัดขาดการเป็นพันธมิตรกับปากีสถานในขณะที่สงครามในอัฟกันนิสถานยังไม่จบสิ้นอย่างนี้ รับรองว่าสหรัฐปวดหัวแน่นอนที่จะต้องรับศึกตัวคนเดียว และอาจจะพ่ายแพ้ตอลิบันอย่างที่เคยแพ้เวียดนามมาแล้วในอดีต
1.4      ปากีสถานจะขาดผู้สนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและการทหาร
            ที่ผ่านมาปากีสถานได้รับเงินสนับสนุนล่อใจจากสหรัฐมาโดยตลอดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การแพทย์ การศึกษา และการทหาร โดยจำนวนเงินสนับสนุนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี นอกจากนี้สหรัฐเองก็ขายอาวุธดีๆให้ปากีสถานมาตลอดในราคาที่ถูกกว่าคนอื่น หากทั้งสองประเทศตัดความสัมพันธ์กันจริงๆปากีสถานก็คงจะขาดเงินสนับสนุน โดยเฉพาะเงินสนับสนุนด้าน การวิจัยพัฒนา และผลิตอาวุธให้เทียบเท่าคู่อริในภูมิภาคอย่างอินเดีย.

ปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐมากที่สุดในเอเชียใต้ และเงินสนับสนุนเหล่านี้ นางฮิลลารี่ คลินตันได้ประกาศระงับสนับสนุนให้ปากีสถานเเล้ว

1.5         ภาพลักษณ์ของปากีสถานจะถูกมองในทางที่ดีขึ้นในสายตาโลกมุสลิม
การสังหารบินลาเดนในปากีสถานซึ่งถือว่าเป็นประเทศมุสลิมได้สร้างความไม่พอใจต่อโลกมุสลิมพอสมควร เพราะถูกมองจากโลกมุสลิมในแง่ลบว่าปากีสถานให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการกวาดล้างและสั่งฆ่าบินลาเดน แม้แต่ชาวปากีสถานเอง แต่ถ้าหากปากีสถานแสดงท่าที ไม่พอใจ ตำหนิติเตียน และตอบโต้สหรัฐจนถึงขั้นอาจจะตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐแล้ว ภาพพจน์ของปากีสถานก็จะถูกมองในแง่บวกและเห็นใจจากโลกมุสลิมมากขึ้นแน่นอน เป็นการลบภาพและประวัติด้านมืดของปากีสถานที่เคยสนับสนุนสหรัฐมาก่อน.

ติดตามต่อใน ปากีสถาน-สหรัฐ : ขัดแย้งขั้นแตกหักหลังสังหารบินลาเดน จริงหรือเท็จ ? ตอน  2 เร็วๆนี้

0 ความคิดเห็น: