ตอนที่ 5 ปากีสถาน-สหรัฐ : ขัดแย้งขั้นแตกหักหลังสังหารบินลาเดน จริงหรือเท็จ? (ตอนจบ)

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

     อย่างที่วิเคราะห์ไว้ในตอนแรกว่าถึงแม้สถานการณ์ความตึงเครียดด้านการฑูต และการตอบโต้ด้วยวาจา และนโยบายต่างประเทศของปากีสถานและสหรัฐในตอนนี้ยังคงดำเนินอยู่และมีแนวโน้มที่ปากีสถานจะลดบทบาทการเป็พันธมิตรกับสหรัฐอยู่ก็จริง แต่หากวิเคราะห์ในอีกแง่มุมตรงกันข้ามก็จะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่ทั้งสองประเทศจะตักขาดความสัมพันธ์ลงเนื่องจากทั้งสองประเทศยังมีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องพึ่งพา ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในด้านการทหาร สงครามก่อการร้าย และการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์มหาศาลของสหรัฐในเอเชียใต้ 
           จากแง่มุมนี้ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและสหรัฐ “จะเป็นความขัดแย้งในระยะสั้น หรือชั่วคราวเท่านั้น”  และอาจจะกลับมาคืนดี หรือปรองดองกันอีกครั้งในอนาคตข้างหน้า.

2.ลดความสัมพันธ์ชั่วคราว
   2.1 ปากีสถานยังมีความจำเป็นในการใช้สหรัฐเป็นผู้สนับสนุนและช่วยคานอำนาจกับอินเดีย
ในภูมิภาคเอเชียใต้นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียและปากีสถานเป็นสองประเทศคู่แข่งกันมาตลอด โดยเฉพาะการแข่งขันด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตอาวุธนิวเคลียร์นั้นเอง แต่ถึงอย่างไรแล้วปากีสถานเองก็ยังเสียเปรียบอินเดียอยู่มากทั้งกำลังทหาร อาวุธ พื้นที่ของประเทศ และเทคโนโลยี ซึ่งอินเดียพัฒนาได้เร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ปากีสถานจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐค่อยเข้ามาหนุนหลังเพื่อคานอำนาจกับอินเดียและมหาอำนาจอื่นๆที่ให้การสนับสนุนอินเดียอย่างจีนและรัสเซีย.


ปากีสถานตั้งอยู่ในที่ตั้งที่เสียเปรียบเพราะติดอยู่กลางดงมหาอำนาจในภูมิภาค มีอินเดียด้านทิศตะวันออก  จีนด้านทิศเหนือ และอิหร่านด้านทิศตะวันตก จึงจำเป็นต้องมีมหาอำนาจอื่นมาคอยสนับสนุนและช่วยคานอำนาจ

2.2 ลดชั่วคราวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นและลดกระแสต่อต้านจากโลกมุสลิม
     ถึงแม้รัฐบาลปากีสถานอาจไม่มีส่วนรู้เห็นจากปฏิบัติการสังหารบินลาเดน แต่ก็หนีไม่พ้นกระแสกดดันและติเตียนจากชาติมุสลิมอย่างหนักว่าว่างตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นชาติมุสลิมที่ให้การช่วยเหลือสหรัฐมากเกินไป ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าทางปากีสถานต้องการสร้างกระแสว่าอาจจะตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐขึ้นเพื่อลดกระแสกดดันจากโลกมุสลิมด้วยกัน เพื่อให้โลกมุสลิมมองปากีสถานในภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นและไม่ได้ตกอยู่ในอิทธิผลของสหรัฐมากจนเกินไปนั้นเอง 

2.3 สหรัฐยังต้องใช้ปากีสถานเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารในมหาสมุทรอินเดียและประตูสู่เอเชียกลาง
      สหรัฐนั้นเป็นมหาอำนาจนอกภูมิภาคที่ไม่มีดินแดนของตนเองในแถบนี้และยังไม่มีพันธมิตรที่ไว้ใจได้แม้แต่ชาติเดียวในเอเชียใต้ยกเว้นปากีสถาน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับปากีสถานเพื่อขอใช้ปากีสถานเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารต่อไป เช่น การตั้งกองทัพเรือเพื่อดูแลผลประโยชน์สหรัฐในมหาสมุทรอินเดีย การใช้ปากีสถานเป็นประตูไปสู้การ หาผลประโยชน์ด้านพลังงานและทำสงครามกับตอลิบันในเอเชียกลางซึ่งไม่ทางออกที่ติดกับทะเล.


ปากีสถานเป็นพันธมิตรของสหรัฐที่ติดกับทะเลในเอเชียใต้และยังใช้เป็นประตูไปสู่เอเชียกลางได้อีกด้วย อย่างอัฟกานิสถาน,คาซัคสถาน,ทาจิกิสถาน,อุสเบกิสถาน,และคียกีสถาน เป็นต้น

บทสรุปที่อาจเป็นไปได้
      ผมมองว่าความคัดแย้งของทั้งสองประเทศคงจะเป็นความขัดแย้งในระยะสั้นเท่านั้น โดยที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจจะดีขึ้นในชุดรัฐบาลถัดไปของสหรัฐหลังการหมดวาระของรัฐบาล บารัค โอบามา ครับ แต่ถ้าหากมีเหตุการณ์ หรือมีการจงใจที่จะสร้างสถานการณ์ใดให้นำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มเติมระหว่างสองประเทศนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าปากีสถานอาจจะลดบทบาทการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐจริงๆ ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริงก็คงตอบบอกว่า “เป็นการสูญเสียผลประโยชน์ อิทธิผล บารมี และพันธมิตร ที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐในเอเชียใต้ ภายใต้การบริหารประเทศของบารัค โอบามา”

       สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจของปากีสถานไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด? เพื่อจุดประสงค์อะไร?ก็คงไม่มีใครทราบได้ชัดเจนในตอนนี้และการตัดสินใจก็คงจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลปากีสถานในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับหะดีษที่รายงานโดยท่านอุมัร บิน ค็อฏฏอบ ว่า แท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
“แท้จริงงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา และทุกๆคนก็จะได้ตามที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้
(ฮาดิษอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1 ฮาดิษมุสลิม หมายเลข 1907).

0 ความคิดเห็น: